วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MINI Cooper S

MINI Cooper S
ถ้าไม่ได้ลองขับรถรุ่นนี้ด้วยตัวเอง ก็จะไม่รู้ว่าทำไมรถรุ่นนี้ถึงขายได้ และขายได้ดีด้วย


เมื่อตอนที่ MINI เวอร์ชั่นใหม่ ภายใต้การฟูมฟักของค่าย BMW จากเยอรมัน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ความรู้สึกที่เคยรักชอบเจ้ารถคันเล็กจิ๋วที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็ก กลับกลายเป็นความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยิ่งได้ดูหนัง The Italian Job เวอร์ชั่นที่ 2 ที่เอามินิตัวใหม่มาแสดงนำ ก็ให้รู้สึกเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา ระหว่างหนังเวอร์ชั่นแรกที่เคยดูเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แล้วได้ข้อสรุปในใจตัวเองว่า "ของเก่าน่าจะดีกว่าของใหม่"...เอ๊ะ เรายึดติดกับความทรงจำเก่า ๆ มากเกินไปหรือเปล่า? นี่ละเค้าเรียกว่า "Paradigm"

    
 ในความยึดติดอย่างที่เรียกว่า Paradigm ของเรานั้น ยังมองเห็นว่า" MINI" ที่เป็นผลงานจากการออกแบบโดย Sir Alec Issigonis ชาวอังกฤษเชื้อสายกรีก ที่ออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อปี 1959 นั้น น่าจะเป็นผลงานชิ้นอมตะที่ไม่น่าจะมีใครมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้อีก

ภายใต้สภาวะที่ขาดแคลนน้ำมันจากสงครามที่อ่าวสุเอซในช่วงกลางทศวรรษ 1950 Alec Issigonis อดีตวิศวกรถูกดึงตัวกลับมาอยู่กับโรงงาน British Motors Corporation หรือ BMC ที่ Longbridge อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับมอบหมายงานออกแบบรถรุ่นใหม่ของด้วยคอนเซ็ปต์ขั้นพื้นฐานง่าย ๆ แต่ปฏิบัติยากของ Sir Alec นั้น ถูกกำหนดเงื่อนไขในการออกแบบรถยนต์นั่งที่มีห้องโดยสารบนพื้นที่อันจำกัด ขนาดไม่เกิน 10x4 ฟุต หรือประมาณ 3x1.2 เมตร ให้กว้างพอที่จะบรรจุผู้โดยสารที่มีรูปร่างสูงขนาดมาตรฐาน 180 ซม.จำนวน 4 คนได้อย่างสะดวกสบาย (พอสมควร..!) และบนพื้นที่อันน้อยนิดอย่างที่ว่านั้น มันมีขนาดที่เล็กมาก ๆ จนในที่สุดผลงานที่ Sir Alec ประสบความสำเร็จในการออกแบบมาอย่างที่เห็น และกลายเป็นประวัติศาสตร์ของโลกรถยนต์ขึ้นมาอีกหน้าหนึ่ง นั่นก็คือ รถมินิที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 3 เมตร ใช้ล้อขนาด 10 นิ้ว ติดตั้งในตำแหน่งมุมทั้งสี่ของตัวรถ

       เครื่องยนต์ขนาดเล็กโมเดล A 4 สูบที่มีอยู่แล้ว เริ่มต้นตั้งแต่ขนาด 850 ซี.ซี. ไปจนถึง 1,100 ซี.ซี. ที่ถูกโมดิฟายใหม่ ต้องรวบเอาห้องเกียร์ 4 สปีดและชุดเฟืองท้ายเอาไว้ใต้อ่างน้ำมันเครื่อง เพื่อจะได้วางในแนวขวางและใช้ระบบขับเคลื่อนที่ล้อหน้า

        ด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่ในการออกแบบระบบกันสะเทือน ถึงแม้จะทำให้เป็นอิสระทั้งสี่ล้อได้ แต่มินิก็ถูกออกแบบให้ใช้กระเปาะยาง หรือ Rubber cone รองรับน้ำหนักแทนคอยล์สปริง ระบบกันสะเทือนชนิดนี้จะออกไปทางกระด้างนิด ๆ แต่ผู้ที่ชื่นชอบมินิก็บอกว่า มันให้การยึดเกาะถนนที่ดี และให้อารมณ์ในการขับขี่เหมือนกับขับโก-คาร์ท




        จากรถมินิต้นแบบคันแรกที่ปรากฏต่อสายตาผู้คนชาวอังกฤษในยุคทศวรรษที่ 60 นั้น ได้ถูกนำเข้าสู่สายการผลิตของ Austin และ Morris ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ BMC-British Motor Corporation เป็นครั้งแรก และยังไม่มีชื่อเรียกเป็น MINI จวบจนกระทั่งเจ้าจิ๋วประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายฮิตติดอันดับ จึงได้เกิดชื่อเรียกตามขนาดเล็กจิ๋วของมัน และท้ายสุดคำว่า MINI ก็กลายเป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกรถขนาดเล็กทรงสองกล่องเพื่อประหยัดพื้นที่ หลังจากนั้นมินิก็ถูกเปลี่ยนมือเข้าไปอยู่ในกลุ่มบรรษัทรถยนต์อย่างบริติช เลย์แลนด์ ในยุคต่อมา แล้วก็เข้าไปอยู่ภายใต้แบรนด์
Rover ก่อนที่จะถูกเทคโอเวอร์โดย BMW เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 20


        ด้วยขนาดรูปทรงภายนอกที่เล็กจิ๋วน่ารักในสายตาผู้คน และสะดุดตา เมื่อมันโลดแล่นอยู่บนถนน สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่หรือตรอกซอกซอยเล็ก ๆ แคบ ๆ ใช้พื้นที่เพียงน้อยนิดบนท้องถนน เหล่าบรรดาผู้ที่ชื่นชมผลงานที่เป็นรถมินิจึงได้ต่อยอดทางความคิดออกมามากมาย ทั้งจากสายการผลิตปกติของโรงงานเอง และสำนักตกแต่งรถชื่อดังจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็หันมาจับเจ้ามินิคันเล็กจิ๋วดัดแปลงรูปทรงหรือเครื่องยนต์ ให้กลายเป็นมินิในสไตล์ที่ตัวเองชื่นชอบ ดังนั้น จึงมีมินิในรูปทรงแปลกๆ รวมไปถึงมินิสมรรถนะสูงกำลังแรงแล่นอยู่บนท้องถนนปะปนกับมินิที่เป็นรถบ้าน กระจายอยู่บนท้องถนนไปทั่วโลก และส่วนหนึ่งถูกเก็บเป็นของสะสมของผู้ที่รักมินิเป็นชีวิตจิตใจมาเป็นเวลานานร่วม 4 ทศวรรษ ก่อนจะหยุดการผลิตไป ด้วยยอดการผลิตรวมเกือบ 5.4 ล้านคัน เป็น British Best Seller รุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกยานยนต์
       MINI ใหม่ภายใต้การบริหารงานโดย BMW ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา MINI ใหม่ ยังคงมีฐานการผลิตอยู่ที่เดิมคือโรงงาน Cowley และ Swindon ในอังกฤษ เพื่อให้คงไว้ซึ่งกลิ่นอายของ MINI ดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด และนั่นก็คงทำได้เพียงเพื่อรักษาสัญลักษณ์ในถิ่นกำเนิดเอาไว้เท่านั้น แม้กระทั่งชื่อของ MINI ดั้งเดิม ก็ถูกสะกดด้วยอักษรตัวใหญ่เป็น MINI หรือในบางครั้งก็เรียกเต็มๆว่า BMW MINI
MINI ใหม่ ที่ผลิตออกมาหลังปี 2000 ได้ถูกออกแบบใหม่โดย Frank Stephenson โดยได้พยายามรักษาเค้าโครงดั้งเดิมของ MINI รุ่นพี่เอาไว้ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังต้อง"อัด"เทคโนโลยีใหม่ ๆ ใส่เข้าไปตามแนวทางที่ถนัดของ BMW ในที่สุด MINI ในทศวรรษที่ 21 ก็ออกมาจากสายพานผลิตที่รู้จักกันในชื่อ MINI หรือ MINI (R53)

        MINI (R53) เข้าประจำการด้วยรูปลักษณ์ที่มองผ่าน ๆ ก็ดูออกว่านี่คือเค้าโครงของ MINI ที่ใหม่และใหญ่ขึ้น แต่ยังคงบุคลิกความคล่องแคล่วบนท้องถนนได้เหมือนเดิม แต่เมื่อเข้าไปพิจารณากันใกล้ ๆ แล้ว จะเห็นความแตกต่างในความใหม่ของรถยุคใหม่อย่างชัดเจน จะมีเพียงเค้าโครงของรถรูปทรงสองกล่องดั้งเดิม มีล้อทั้งสี่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โตขึ้นติดตั้งเอาไว้ในตำแหน่งของมุมทั้งสี่



       ในส่วนหัวของรถบริเวณที่ติดตั้งเครื่องยนต์ ยังคงลักษณะที่สั้นได้สัดส่วนกับขนาดของล้อที่โตขึ้น แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของ MINI ดั้งเดิมเอาไว้ ด้วยไฟหน้ารูปกลมและฉีกแนวเป็นวงรีเล็กน้อยและใช้เป็นฟังก์ชันรวมทั้งไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณอื่น ๆ กระจังหน้ามีทั้งเลียนแบบหน้ายิ้มพิมพ์นิยมเมื่อครั้งอดีต และแบบกระจังซี่ตามเวอร์ชั่นที่ออกจำหน่าย

       ฝากระโปรงหน้าเจาะช่องระบายความร้อนให้กับอินเตอร์คูลเลอร์ใน Cooper S ถูกออกแบบรวมมากับแก้มบังโคลน ไฟหน้า กระจังหน้า และเปิดยกขึ้นไปได้ทั้งหมดตั้งแต่ขอบกันชนขึ้นไปแบบเดียวกับรถ MINI ที่ใช้แข่งในอดีต ทำให้การเข้าถึงเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ขณะซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างง่ายดาย


       ในส่วนของห้องโดยสารนั้น ยังคงเอกลักษณ์ของโครงสร้างแบบรถขนาดเล็ก 2 ประตูเอาไว้ กระจกหน้าต่างรอบคันกลายเป็นกระจกโค้งทั้งหมด ผิดกับของเดิมที่โค้งเฉพาะแผ่นบังลมหน้ากับหน้าต่างหลังเท่านั้น ที่เป็นกระจกโค้งและด้านข้างเป็นแผ่นเรียบ แต่มุมกระจกบังลมหน้าค่อนข้างตั้งชันนั้น ช่วยรักษาเค้าโครงของ MINI ดั้งเดิมเอาไว้ได้ดี และน่าแปลกใจเวลาที่ใช้ความเร็วสูง ๆ ระดับ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป กลับไม่ค่อยเกิดเสียงลมปะทะที่กระจกหน้าอย่างที่คาดเอาไว้ และส่วนท้ายรถถูกเจาะเป็นประตูบานที่สามแบบเปิดขึ้น เพื่อสะดวกแก่การใช้งานขนข้าวของสัมภาระขึ้น-ลง เช่นเดียวกับรถทรงสองกล่องทั่วไป ส่วนไฟท้ายก็ยังเน้นเค้าโครงของไฟท้ายย้อนยุค
        ภายในห้องโดยสารของ MINI (R53) มีขนาดกว้างขวางเพียงพอสำหรับการนั่งโดยสาร 4 คนอย่างสบาย สวิตช์ควบคุมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกจัดวางเลย์เอาท์ให้ใกล้เคียงของเดิม แม้กระทั่งบรรดาปุ่มสวิตช์ต่าง ๆ ก็ยังเลียนรูปแบบให้คล้ายของเดิม อย่างเช่น แผงหน้าปัดที่เรียบง่าย มาตรวัดวงกลมขนาดใหญ่ติดตั้งในตำแหน่งกึ่งกลางหน้าปัด รวมกับแผงปุ่มสวิตช์อย่างได้บรรยากาศ แม้กระทั่งมุมกระจกหน้าที่ตั้งชันก็ยังให้ความรู้สึกเหมือนกับได้นั่งใน MINI รุ่นเก่า

       ในส่วนของเครื่องยนต์และช่วงล่างที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกตัวถังของ MINI (R53) นั้น ไม่ได้มีอะไรที่ปรับปรุงมาจาก MINI ดั้งเดิมเลย จะมีเพียงการวางเลย์เอาท์เครื่องยนต์แบบวางขวางเพื่อใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้นที่เหมือนกัน แต่ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ คือของใหม่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเกียร์แมนวล 6 สปีด หรืออัตโนมัติแบบ CVT ที่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์อยู่หลังแป้นพวงมาลัย (ให้มาเป็นออปชั่นเสริม)

        ระบบช่วงล่างหน้าของ MINI (R53) ใช้ระบบแม็คเฟอร์สัน สตรัท และข้างหลังเป็นมัลติลิงค์ เพื่อการยึดเกาะถนนที่มั่นคง และการถ่ายทอดแรงบิดสู่พื้นถนนได้อย่างเต็มที่ขณะเร่งออกตัว ผิดกับ MINI ยุคแรก ที่ใช้แบบดับเบิลวิชโบนที่ล้อหน้า และแขนเทรลลิ่งอาร์มที่ล้อหลัง เพื่อประหยัดเนื้อที่ของโครงสร้าง แต่ระบบรองรับน้ำหนักที่ใช้ยางรับเบอร์โคนที่มีการยืดหยุ่นตัวน้อย ทำให้รถมีบุคลิกของรถที่กระด้างนิด ๆ พอมาเป็นโครงสร้างระบบช่วงล่างใหม่ใน MINI (R53) ที่สามารถยืดหยุ่นตัวได้มากก็จริง แต่เพื่อรักษา "ฟีลลิ่ง" ในการขับขี่ให้ใกล้เคียงกับ MINI รุ่นเก่า MINI (R53) จึงได้รับการปรับเซ็ตช่วงล่างให้แข็งหนึบหนับมากกว่าปกติ และนั่นก็เป็นผลดีที่ทำให้ MINI (R53) ใหม่ มีการทรงตัวและเกาะถนนได้ดีเมื่อใช้ความเร็วสูง


 
        ด้วยความจำเป็นที่ค่อนข้างรีบด่วนกับการเปิดตัวของ MINI (R53) ภายใต้การบริหารของ BMW เป็นครั้งแรก และ BMW ก็ไม่เคยมีเครื่องยนต์แบบวางขวาง และขับเคลื่อนล้อหน้ามาก่อน ก็เลยต้องไปหยิบยืมเอาเครื่องยนต์ของ Tritec จากบราซิลมาใช้

        Tritec เป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์ที่ร่วมหุ้นกันระหว่างไครสเลอร์ กับโรเวอร์กรุ๊ป ก่อนหน้าที่ BMW จะซื้อกิจการของโรเวอร์ไม่นานนัก เครื่องยนต์ที่ Tritec ผลิตออกมาถือว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ทันสมัยทีเดียว ถึงขนาดเคยคว้ารางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมมาแล้วในปี 2005 ดังนั้น เมื่อนำมาใช้กับก็ถือว่า MINI (R53) ทั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร หายใจธรรมดา 90 แรงม้า (ในรุ่น MINI ONE) และรุ่นที่ติดตั้งซูเปอร์ชาร์จควบกับอินเตอร์คูลเลอร์สำหรับรุ่นท็อปใน Cooper S ที่มีฝูงม้าพร้อมรบถึง 170 แรงม้า DIN แค่นี้ก็ทำให้ MINI (R53) ที่ขยายสัดส่วนในมิติต่าง ๆ โตขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นรถที่มีฝีเท้าจัดจ้านทั้งตีนต้นและตีนปลาย สะใจแฟน ๆ ไปทั่วโลก สมดังเจตนารมณ์ที่ BMW คาดหวังเอาไว้ และเริ่มมียอดขายเป็นกอบเป็นกำขึ้นเรื่อยๆ และมียอดการผลิตทะลุหลัก 1 ล้านคันไปแล้ว เมื่อต้นปีนี้เอง

        การเดินทางของ MINI ใหม่ ภายใต้การฟูมฟักของ BMW ได้มาสู่จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในปีนี้เอง ดูเหมือนว่า BMW จะมีความพร้อมและมั่นใจกับการทำตลาดของ MINI มากยิ่งขึ้น ยิ่งได้กำลังใจจากการตอบรับของแฟน ๆ MINI ทั้งจากส่วนหนึ่งที่เคยปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงจากเวอร์ชั่นเก่าที่เริ่มหวนกลับมาหลังจากที่ได้ทดลองขับเวอร์ชั่นใหม่แบบตัวเป็น ๆ แล้วติดใจ กับอีกส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มลูกค้ารถหรูดั้งเดิมของ BMW เอง ที่เริ่มมันส์กับบุคลิกความคล่องแคล่วของ MINI ยามที่ใช้งานในเมืองที่เต็มไปด้วยความแออัดของปริมาณรถบนท้องถนน ผนวกกับความต้องการฉีกหนีรูปแบบ หรือไลฟ์สไตล์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างมั่นใจ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้รถคันเล็กที่หรูหราอย่างมีเอกลักษณ์ แถมยังราคาแพง แต่ยังขายได้ และขายได้ดีด้วย

        ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าศึกษาข้อมูลลึก ๆ และพิจารณากันอย่างละเอียดแล้ว ก็จะพบว่า BMW นั้น เริ่มเอาจริงเอาจังกับ MINI มากแค่ไหน ก็ต้องตามมาดูกันต่อใน MINI (R56) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 หรือโมเดลเชนจ์รุ่นปี 2007 ที่เริ่มเข้ามาวางจำหน่ายในตลาดเมืองไทยชนิดที่ว่าสด ๆ ร้อน ๆ กันเลยทีเดียว



        ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของ MINI อาจจะมีคำถามในใจตั้งแต่แรกที่ได้พบเห็นกันเลยว่า "แล้วมันแตกต่างกันยังไง?" คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามยอดฮิต FAQ อันดับหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่จะถาม

        MINI (R53) กับ (R56) นั้น ถือว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างมากทีเดียว แต่ถ้าไม่จับมาจอดเทียบกันแบบตัวต่อตัวแล้ว อาจจะมองไม่ออก เหมือน ๆ กับ MINI เวอร์ชั่นเดิมที่ต้องจับเอาแต่ละรุ่นมาเรียงเปรียบเทียบกันดู จึงจะเห็นว่าในช่วง 40 ปีของ MINI มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

        จากรูปทรงภายนอก ไล่กันตั้งแต่หัวจดท้ายรถก็จะพบว่า มันแตกต่างกันมาเลยแหะ กระจังหน้า ฝากระโปรงหน้า ไฟใหญ่ ไฟเลี้ยว ไฟหรี่ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ฝากระโปรงยังคงเปิดได้แบบยกยวง รวมกับแก้มบังโคลนหน้าเหมือนเดิม แต่ไฟหน้าไม่ลอยติดไปกับฝากระโปรงด้วย มุมลาดเอียงของกระจังหน้าก็ไม่เหมือนกัน ตัวใหม่จะยื่นออกมามากกว่าและสูงขึ้นกว่าเดิม ยิ่งถ้าเป็นตัว Cooper S แล้วละก้อ หลายคนอาจจะงง เพราะส่วนบนของฝากระโปรงในรุ่นนี้ ปกติจะมีช่องเจาะเพื่อให้ลมเย็นผ่านเข้าไประบายความร้อนของอินเตอร์คูลเลอร์ในรุ่น R53 พอมาเป็น R56 ช่องเจาะนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่เช่นเดิม แต่เมื่อเปิดฝากระโปรงขึ้นมาดูกันจริง ๆ แล้ว มันคือช่องเซาะเอาไว้เลียนแบบของเดิมเท่านั้นเอง ส่วนอินเตอร์คูลเลอร์ที่จะระบายความร้อนให้กับอากาศที่ป้อนเข้าเครื่องยนต์ของ R56 จะย้ายลงไปอยู่ข้างใต้ บริเวณหลังกันชนหน้า ช่างเข้าใจเก็บรายละเอียดกันจริง ๆ
     ในรุ่น Cooper S ที่ได้ลองทดสอบ แม้เพียงช่วงเวลาไม่นานนัก แต่ก็สามารถจับสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของ MINI คันนี้ออกมาได้อย่างน่าประทับใจเหลือเชื่อ จนให้คิดวาดฝันเลยเถิดไปไกลว่า รถที่มีรูปทรงเรียบง่ายไม่โฉบเฉี่ยวหวือหวาแบบรถสปอร์ต ขนาดกำลังกะทัดรัดคล่องตัว แต่ข้างในห้องโดยสารกว้างขวางพอ สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงในยามที่ต้องการเดินทางเพื่อพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นช่วงยามเย็น หรือเดินทางไกลวันสุดสัปดาห์ โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายและความปลอดภัยอย่างครบครัน มันจะเป็นอะไรที่รถคันหนึ่งจะให้เราได้มากขนาดนั้น ถ้าไม่เชื่อก็ลองมาวิเคราะห์กันดูทีละอย่าง
       รูปทรงของตัวรถที่เรียบหรูนั้น คงไม่ต้องคุยมาก ในสไตล์ของ BMW อยู่แล้ว ที่จะต้องทำอะไรที่มันดูแล้วต้องซาบซึ้งไปกับความช่างประดิดประดอย และการเลือกสรรวัสดุที่ใช้ในห้องโดยสาร เบาะหนังแท้ที่ตัดเย็บได้ประณีตและพยายาม "สื่อ" ให้รู้ถึงความรู้สึกกับบรรยากาศที่ย้อนยุคนิด ๆ แผงหน้าปัดตอนกลางมีมาตรวัดรวมอันใหญ่พอ ๆ กับนาฬิกาแขวนข้างฝา 1 จุด (ดูแล้วรู้สึกว่าจะใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิมเสียอีก) สำหรับรายงานผลการทำงานของระบบต่าง ๆ อย่างครบถ้วน รวมไปถึงจอ Onboard Computer โดยมีปุ่มสวิตช์โต้ตอบติดตั้งไว้บนแป้นพวงมาลัย ขณะเดียวกันก็ยังมีหน้าปัดวงกลมเล็ก ๆ อีกชุดหนึ่งที่ทำหน้าที่บอกความเร็วรอบเครื่องยนต์และจอออนบอร์ดเล็ก ๆ ทางด้านล่างภายในชุดวัดรอบ ที่ทำหน้าที่เหมือนกับจอมอนิเตอร์รายงานผล เช่นเดียวกับมาตรวัดรวมอันใหญ่ตรงกลาง ติดตั้งอยู่บริเวณบนคอพวงมาลัยทางด้านหน้าของผู้ขับขี่ ถัดมาใต้มาตรวัดรวมตรงกลางก็จะเป็นชุดเครื่องเสียงชั้นดีที่ฝังกลมกลืนไปกับตัวหน้าปัด ซึ่งถัดลงไปอีกนิดเป็นกลุ่มสวิตช์ควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศ และที่สร้างบรรยากาศย้อนยุคได้ดีอีกอย่างก็เห็นจะเป็นแถว Toggle Switches หรือสวิตช์โยกชุบโครเมียมสำหรับควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงปุ่มควบคุมการเลื่อนเปิด-ปิดของกระจกหน้าต่างทั้งซ้าย-ขวาด้วย แต่ตอนใช้งานจริงอาจจะต้องใช้สายตาชำเลืองมองสักนิดจะได้ไม่คลำผิดคลำถูก

        เหนือกระจกมองหลังก็ยังมีกลุ่มสวิตช์แบบโยกหรือ Toggle อีกชุดหนึ่ง สำหรับการควบคุมกระจกซันรูฟ รถคันที่เราทดสอบเป็นรุ่น Look 2 ที่มีหลังคากระจกกรองแสงทั้งตอนหน้าและหลัง ม่านบังแดดด้านในรู้สึกจะโปร่งแสงมากไปหน่อย จนเกรงใจว่าแอร์จะทำงานหนักตลอดเวลา แต่ระหว่างการทดสอบท่ามกลางแดดจัด ๆ ก็ไม่ปรากฏว่าความเย็นในรถจะไม่พอ ส่วนใครจะไปวิ่งเปิดหลังคารับลมทะเลในวันหยุดพักผ่อน หรือเปิดรับแสงสีตามแหล่งบันเทิงก็เท่ไม่หยอก เพียงแต่ว่าหลังคาจะเลื่อนเปิดได้เต็มที่ก็เฉพาะที่นั่งตอนหน้าเท่านั้น ส่วนตอนหลังได้แต่เปิดแง้มระบายอากาศในจังหวะแรกเท่านั้น

        รับกุญแจจะมาลองสตาร์ทเครื่องดู...ว้าว...ทันสมัยซะด้วย ก็ชุดกุญแจเป็นแบบ Smart entry นั้น ดูธรรมดาสำหรับรถระดับนี้ แต่แป้นจับตัวกุญแจสีเทาดำขนาดใหญ่ ออกแบบเป็นรูปวงกลมเหมือนเหรียญองค์จตุคามฯ ยิ่งส่วนของลูกกุญแจปกติจะเก็บซ่อนไว้ในแป้นจับอีกทีหนึ่ง เวลาจะใช้งานก็เอาไปวางแปะไว้บนช่องด้านขวาของคอพวงมาลัยแล้วดันเข้าไป เท่านี้ก็กดปุ่มสตาร์ทได้แล้ว เอ้า...กดปุ่มสตาร์ทแล้วยังเงียบ ก็ยังไม่ได้เหยียบคลัตช์ก่อนนี่นา มันจะติดได้ยังไง

        ย้อนกลับไปเปิดฝากระโปรงดูสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเครื่องยนต์กันนิด ดู ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าจะมีพิษสงมากมาย จากสเป็กเป็นเครื่อง 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 1.6 ลิตร วางขวาง เพื่อใช้กับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ในรุ่น Cooper S จะเสริมการอัดอากาศด้วยเทอร์โบแบบใบพัดก้นหอยคู่ หรือ Twin-scrolled ที่สามารถลดอาการรอรอบ หรือ Turbo lack ที่เป็นจุดอ่อนของเทอร์โบทั่วไป ตัวเทอร์โบติดตั้งอยู่ชิดกับด้านหน้าของห้องเครื่องยนต์ ดังนั้น ฝากระโปรงของ MINI รุ่นนี้จึงถูกทำให้โป่งสูงขึ้นไปมากกว่ารุ่นก่อน เพื่อให้มีช่องว่างมากขึ้น ขณะเดียวกันตัวอินเตอร์คูลเลอร์สำหรับระบายความร้อนออกจากอากาศที่ถูกอัดก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ก็ถูกย้ายตำแหน่งลงไปอยู่ใต้กันชนหน้า

         ถึงเครื่องยนต์จะเล็ก แต่ก็เล็กแบบพริกขี้หนู เครื่องยนต์ตัวนี้มีชื่อเรียกว่าเครื่อง Prince เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่าง BMW กับกลุ่ม PSA ผู้ผลิตเปอโยต์และซีตรองแห่งฝรั่งเศส มีทั้งขนาดความจุ 1.4 และ 1.6 ลิตร มีทั้งเครื่องหายใจธรรมดาและอัดอากาศด้วย Twin-scrolled turbo ในเครื่องทั้งหายใจธรรมดาและมีระบบอัดอากาศจะได้รับการติดตั้งระบบควบคุมการป้อนอากาศ Valvetronic ที่ช่วยให้การป้อนอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนเครื่องยนต์เทอร์โบนั้น นอกจากจะเพิ่มพลังได้มหาศาลเกินตัวคือระดับ 175 แรงม้า หรือ 128 kW และแรงบิด 240 N-m แล้ว ยังมีโหมดเสริมแรงบิด หรือ Overboost Function ที่สามารถเพิ่มแรงบิดขึ้นเป็น 260 N-m ได้ในทันทีที่กดคันเร่งมิดอีกด้วย

         จุดเด่นของเครื่องยนต์ Prince อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงเบนซินแบบไดเร็กอินเจ็กชั่น หรือฉีดเชื้อเพลิงตรงเข้าไปยังห้องเผาไหม้ด้วยแรงดันสูง ทำให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์หมดจด แทบไม่มีมลพิษหลงเหลือออกมากับไอเสียอีก นอกจากนั้นยังประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีเยี่ยม ในการทดลองจับอัตราความสิ้นเปลืองในสภาพการจราจรปกติในกรุงเทพฯ ด้วยความเร็วที่มีทั้งรถติด หรือถนนว่างก็ "อัด" ตัวเลขที่ออกมาได้เกือบ 11 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ถ้าเป็นนอกเมือง เจอทางโล่งๆ ก็ใช้ความเร็ว 120-180 เป็นพัก ๆ ก็ยังทำตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่เกิน 13 กิโลเมตรต่อลิตร ไม่น่าเชื่อว่า รถที่วิ่งได้สะใจแบบนี้จะกินน้ำมันน้อยมาก

        ได้เวลาออกรถกันเสียที MINI (R56) คันนี้เป็น Cooper S ที่มาพร้อมกับเกียร์แมนวล 6 สปีด ส่วนเกียร์อัตโนมัติยังไม่มีออกวางจำหน่ายในช่วงแรก ๆ นี้ ลองขยับเท้ากดคันเร่งไปเรื่อย ๆ ในช่วงแรกพอให้รู้สึกอาการตอบสนองของเครื่องยนต์ รู้สึกจะมีอาการหน่วงบ้างเล็กน้อยตามประสาเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบ Drive-by-wire หรือคันเร่งไฟฟ้า แต่พอเริ่มชินแล้วก็กดคันเร่งเพื่อจับเวลาดู ในแต่ละเกียร์ เสียงเครื่องยนต์คำรามแบบดุดันพร้อมกับอาการดึงของตัวรถแบบหลังติดเบาะ

         เกียร์ 1 กดเต็มที่ รอบเครื่องกวาดขึ้นไปสุดที่ 6,700 รอบต่อนาที ได้ความเร็วสูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกียร์ 2 ทำได้ 100 ที่ 6,600 รอบต่อนาที...เกียร์ 5 222 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ 6,500 รอบต่อนาที และ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยรอบเครื่อง 5,800 รอบต่อนาที ที่เกียร์ 6 ..มันเหลือเชื่อจริง ๆ สำหรับเล็กพริกขี้หนูตัวนี้

        เอาใหม่ ลองจับอัตราเร่งแต่ละช่วงความเร็วดู จากหยุดนิ่งถึงความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 8.37 วินาที, 0-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลา 11.17 วินาที, 0-402 เมตร ดีที่สุด 15.97 วินาที ที่ความเร็วปลาย 150.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น

        ตัวเลขต่างๆ ที่เอ่ยมานี้ ฟังดูเหมือนกับธรรมดา ๆ แต่เมื่อได้ลองของจริงกับตัวเองแล้ว จะรู้ว่าเจ้าพริกขี้หนูตัวนี้ไม่ธรรมดาเลย เพราะมันเป็นตัวเลขที่สามารถเทียบกับรถสปอร์ตราคาแพง ๆ อย่างเช่น BMW 6 Series ที่มีราคาค่าตัวเกือบ 10 ล้าน หรือจะเทียบกับรถระดับซูเปอร์คาร์ราคาหลายสิบล้าน ก็ถือว่า MINI (R56) ให้อรรถรสในการขับขี่ที่ไม่ห่างกันนัก ในขณะที่ราคาค่าตัวแตกต่างกันมากมายหลายเท่า ด้วยบุคลิกของเครื่องยนต์ที่ตอบสนองการกดคันเร่งได้อย่างรวดเร็ว จากแรงบิดที่เริ่มต้นตั้งแต่รอบต่ำ ๆ เราสามารถจะ "คลาน" ในเกียร์ 6 ที่ความเร็วไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่เครื่องยนต์ทำงานต่ำกว่า 1,800 รอบต่อนาที และ"สั่ง" กดคันเร่งแบบครั้งเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ เจ้า MINI Cooper S (R56) สามารถจะไต่ระดับความเร็วขึ้นไปได้ในทันทีโดยไม่มีอาการอืด ถ้าทางโล่งพอก็มีโอกาสไต่ถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ในเวลาไม่นานนัก และก็จะนิ่งอยู่แค่นั้น

        ถึงได้บอกว่า ถ้าได้ลองขับแล้วจะติดใจ และก็ไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะมีลูกค้าที่เบื่อรถสปอร์ตคันใหญ่ หรูหรา จะหันมาขับเจ้าเล็กพริกขี้หนูตัวนี้บ้าง

        ไม่เพียงแต่ MINI คันนี้จะให้อัตราเร่งตอบสนองการขับขี่ได้ไม่น้อยหน้ารถสปอร์ต ก็ต้องยอมรับว่า BMW ทำการบ้านมาดีมาก สำหรับการพัฒนาระบบช่วงล่าง และเสริมการขับขี่ด้วยอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอีกเพียบ ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างมั่นใจ


         ในการเริ่มต้นออกตัวอย่างรุนแรงในเกียร์ต่ำ ๆ แรงบิดขนาดไม่ธรรมดา จากเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพียง 1,600 ซี.ซี. แสดงอาการธรรมชาติของการดึงพวงมาลัยเข้าหาแนวตรงค่อนข้างรุนแรงตามประสารถขับล้อหน้า แต่เมื่อใช้ความเร็วสูง ๆ น้ำหนักของพวงมาลัยจะถูกตัดการเสริมแรงบังคับจากระบบเพาเวอร์ออกไป ทำให้น้ำหนักของพวงมาลัยกำลังพอดี และการถ่ายทอดการสัมผัสของหน้ายางกับพื้นผิวถนนมาสู่มือก็ให้ความรู้สึกถึงความมั่นใจในการเกาะถนน ซึ่งคงต้องยกความดีให้กับเจ้าชุดพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้าที่แบ่งระดับการเสริมแรงในแต่ละช่วงความเร็วออกมาได้อย่างลงตัว

        BMW ได้ทุ่มเทพัฒนาระบบช่วงล่างของ MINI เสียใหม่ตามแนวทางที่ถนัด นั่นก็คือ การปรับเปลี่ยนค่ามุมทางเรขาคณิตของชิ้นส่วนในระบบกันสะเทือน รวมไปถึงการใช้ชิ้นส่วนของระบบช่วงล่างหลังที่เป็นโลหะชนิดพิเศษ น้ำหนักเบา อย่างเช่นอะลูมิเนียม รวมไปถึงการปรับปรุงระบบเบรกที่เป็นอีกจุดหนึ่งที่สร้างความมั่นใจในการขับขี่ดังที่ BMW คาดหวังเอาไว้ นั่นก็คือ การยึดเกาะถนนของตัวรถที่จะต้องมั่นคง กระชับ ฉับไวและเฉียบขาด แบบเดียวกับการขับขี่รถโก-คาร์ท ซึ่งเป็นฟีลลิ่งที่ผู้พิสมัยในความเร็วชื่นชอบ ถึงแม้ว่ามันจะหยาบกระด้างอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในรถยนต์นั่งโดยทั่วไป มันอาจจะหาความรู้สึกแบบนี้ได้บ้างจากรถสปอร์ตระดับซูเปอร์คาร์ที่แสนแพง MINI อาจะเป็นทางเลือกที่ลงทุนน้อยกว่า และยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นพาหนะที่ใช้งานในรูปแบบ Daily use ในขณะที่รถระดับซูเปอร์คาร์ทำแบบนี้ไม่ได้

        
MINI (R56) ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งของ BMW ทั้งในแง่ของการลงทุนทำธุรกิจ โดยซื้อกิจการที่เป็นหนึ่งในสุดยอดของธุรกิจรถยนต์มาไว้ในครอบครอง ไม่เพียงแต่จะทำให้ BMW มีโอกาสต่อยอดสร้างผลกำไรจากกระแสความนิยมของรถยนต์อังกฤษยี่ห้อนี้เท่านั้น แต่ BMW ยังมองไปไกลยิ่งกว่านั้น โดยการใช้ประสบการณ์และความชำนาญในการผลิตรถยนต์สมรรถนะสูง มาผสมผสานกับรูปลักษณ์ที่เป็นความนิยมแบบย้อนยุคได้อย่างลงตัว งานนี้ฟันธงได้เลยว่า MINI จะกลายเป็นสินค้าหลักของค่าย BMW อย่างเต็มตัว และไม่ใช่เป็นเพียงของเล่นหรือของสะสมสำหรับคนมีเงินเหลือใช้อีกต่อไป

มองจากเส้นเค้าโครงด้านข้างก็เช่นกัน คราวนี้ก็ได้เห็นกันจะจะว่า เส้นขอบเอวหรือ Waistline คือเส้นแบ่งขอบระหว่างกระจกหน้าต่างกับส่วนที่เป็นโลหะของเปลือกตัวถังนั้น จะพบว่า R56 จะมีเส้นขอบเอวหรือขอบหน้าต่างสูงขึ้น หรือว่ามีเนื้อที่กระจกหน้าต่างน้อยลง เป็นบุคลิกที่ดูสปอร์ตมากขึ้น แม้ด้านท้ายรถก็เช่นกัน มีความแตกต่างในส่วนปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อนข้างมาก และถ้าจะมีใครถามว่ามีชิ้นส่วนอะไหล่ใช้ร่วมกันได้ไหม? คงจะบอกได้ว่ายากส์ เพราะพอเอามาจอดเทียบกันแล้ว ทุกอย่างมันแตกต่างกันไปหมด

        อย่างที่บอกไปแล้วว่า BMW เอาจริงเอาจริงกับการออกแบบและผลิต MINI ตัวใหม่นี้มาก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประสบการณ์ที่ได้เก็บสะสมข้อมูลมาตลอดช่วงเวลาของการผลิต (R53) ออกสู่ตลาด รวมไปถึง Feedback ที่ได้จากลูกค้าในแง่มุมต่าง ๆ จึงได้นำมาปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ ที่เป็นรายละเอียดต่าง ๆ รอบคันรถได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังเป็นจังหวะอันเหมาะเจาะที่ BMW จะได้ "อัด" ของเล่นประเภทไฮเทคทั้งหลายเข้าไปในรถรุ่นใหม่กันอย่างครบถ้วน ไม่แพ้รถในสายการผลิตของ BMW เอง

        ความพยายามของ BMW มองคอนเซ็ปต์ในการสร้าง MINI (R56) ให้เป็นรถชนิดที่เรียกว่า ผู้ขับขี่สามารถจะสัมผัสและรับความรู้สึกจากประสาทสัมผัสแทบจะทุกส่วนก็ว่าได้ เพื่อที่จะย้อนความรู้สึกเหล่านั้นกลับไปสู่ MINI Classic แบบดั้งเดิมนั้นให้ได้มากที่สุด ด้วยรูปทรงภายนอกและภายใน การจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์ และการดีไซน์รูปแบบของปุ่ม และสวิตช์ควบคุม แม้แต่ตำแหน่งท่านั่งของเบาะนั่งก็ยังบอกความรู้สึกแบบนี้ได้

        และเช่นเดียวกัน สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกตัวถัง และวัสดุตกแต่งในรถที่ดูไม่หรูหราจนเวอร์ บวกกับการเก็บรายละเอียดในการออกแบบที่ต้องยกนิ้วให้ นั่นก็คือ "ฟีลลิ่งในการขับขี่" ที่จะบ่งบอกได้ว่า MINI (R56) คันนี้ ราคาเหมาะสมกับค่าตัวรถสามล้านบาท หรือคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่เพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น